หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 6 ปี

ปรัชญา


          พัฒนาวิชาการทางทันตแพทยศาสตร์ เพื่อให้เกิดสังคมที่พร้อมด้วยสุขภาพอนามัยช่องปากที่ดี

 

ความสำคัญ


          ทันตแพทย์ มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน โรคในช่องปากที่พบบ่อยในประชากรไทย ได้แก่ โรคฟันผุ และโรคปริทันต์ โดยภาวะโรคทั้งสองก่อให้เกิดความเจ็บปวด และสูญเสียฟัน ซึ่งนำไปสู่การรักษาทางทันตกรรม นำไปสู่การสูญเสียเวลา และความเสียหายต่อร่างกายของผู้ป่วย ปัจจุบันวิทยาการการรักษา มีความก้าวหน้า ทั้งด้านวัสดุ เทคโนโลยี และวิทยาการ การเตรียมบุคลากรให้พร้อม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตทันตแพทย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ มีความรู้ดีในวิชาชีพและวิชาที่เกี่ยวข้อง รู้จักเรียนรู้ และปรับปรุงตนเองให้รู้เท่าทันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของโลก คิดอย่างมีเหตุผล และสร้างสรรค์ ดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในวิชาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

 

วัตถุประสงค์


  • สามารถตรวจและให้การวินิจฉัยโรคในช่องปาก และการทดสอบอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัย
  • สามารถวางแผนการรักษา รวมทั้งสามารถจัดการปัญหาโรคในช่องปากร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่นได้อย่างเหมาะสม
  • สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมทั้งภาวะฉุกเฉินและการรักษาทางทันตกรรมทั่วไป เพื่อป้องกันการสูญเสียองค์ประกอบของฟัน และสามารถบูรณะฟันส่วนที่สูญเสียให้กลับมาในสภาพเดิม
  • สามารถสนับสนุนจัดกิจกรรม เพื่อสร้างสุขภาพช่องปากได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโดยให้สอดคล้องกับชุมชน นโยบายด้านสุขภาพของประเทศ
  • สามารถสร้างสรรค์ความรู้ใหม่และพัฒนาตนเองทั้งในด้านความรู้และทักษะทางวิชาชีพ ประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม
  • เป็นผู้ที่มีจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นผู้ที่มีความรู้ และความสามารถในด้านต่าง ๆ อันได้แก่ การบริหารจัดการ ภาษา และการสื่อสาร กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม

หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทันตสาธารณสุข (2 ต่อเนื่อง)

ปรัชญา


          พัฒนาวิชาการทางทันตสาธารณสุข เพื่อสังคมที่พร้อมด้วยสุขภาพอนามัยช่องปากที่ดี

 

ความสำคัญ   


          แผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาบุคลากรและหลักสูตรด้านทันตกรรมผู้สูงอายุกำหนดแผนปฏิบัติการให้มีการผลิต การพัฒนา และการใช้บุคลากรด้านทันตกรรมและบุคลากรด้านทันตสาธารณสุขเพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพช่องปากของผู้สูงอายุ โดยได้มีนโยบายให้มีการพัฒนาเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขที่อยู่ในกรอบของหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาธารณสุขศาสตร์(หลักสูตร 2 ปี) ให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดทางการศึกษาให้ถึงระดับปริญญาตรี เพื่อให้มีความพร้อมในการวางแผนและทำงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมและมีความสามารถด้านการจัดการบริหารงานสาธารณสุขให้กับประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุ หลักสูตรนี้ มุ่งผลิตบัณฑิตสาธารณสุขศาสตร์ ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขเพื่อการพัฒนาระบบทันตสาธารณสุขของประเทศ โดยสามารถทำงานร่วมกับทีมสุขภาพในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับระบบกลุ่มบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster ; PCC)

  

วัตถุประสงค์ 


          เพื่อผลิตบัณฑิตสาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข)ให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้นำทางวิชาชีพทันตสาธารณสุขในชุมชน ที่มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพ
  2. มีทักษะการคิดวิเคราะห์รวบรวมสถานการณ์ด้านทันตสุขภาพของชุมชนจากแหล่งข้อมูลในพื้นที่จริงได้อย่างเป็นองค์รวม
  3. มีความรู้ความสามารถในการวางแผน แก้ปัญหาและทักษะในการดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมและสามารถประเมินผลโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักการทางการวิจัยและเครื่องมือการวิจัยทางสาธารณสุข สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขของประเทศ
  4. มีความรู้พื้นฐานในการส่งเสริมทันตสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม และสามารถทำงานส่งเสริมทันตสุขภาพผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. มีมนุษยสัมพันธ์และมีทักษะการสื่อสารที่ดี สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับบุคลากรด้านสาธารณสุข และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลระดับสูงร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนและใช้นำเสนอข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีศักยภาพที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ และสามารถพัฒนาการศึกษาของตนเองในระดับบัณฑิตศึกษาได้