หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมคลินิก

ปรัชญา


          พัฒนาทันตแพทย์ ยกระดับทันตสุขภาพไทย

ความสำคัญ


          จากรายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7พ.ศ.2555 โดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่าปัญหาหลักของเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3 ปีและ 5 ปี และเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี และ 15 ปี คือปัญหาโรคฟันผุ ส่วนในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-44 ปี พบปัญหาจากรอยโรคสะสมทั้งโรคปริทันต์อักเสบและโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60-74 ปี และ 80 ปี  มีปัญหาหลักคือการสูญเสียฟัน ทำให้มีความต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วนและฟันเทียมทั้งปากในสัดส่วนที่สูง การสื่อสารความรู้ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองและการมารับบริการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการลดการสูญเสียฟัน พร้อมไปกับการใส่ฟันเทียมทดแทนซึ่งจะทำให้ฟันและระบบบดเคี้ยวกลับมาทำงานได้ตามปกติ

          ภาควิชาทันตกรรมอนุรักษ์และทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้เล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับหลังปริญญาที่มุ่งให้ทันตแพทย์มีความรู้ความสามารถขั้นสูงในการรักษาโรคฟันผุ  โรคปริทันต์อักเสบ การรักษาทางวิทยาเอ็นโดดอนต์ ซึ่งเป็นการบูรณะเพื่อเก็บรักษาฟันธรรมชาติ และการรักษาทางทันตกรรมประดิษฐ์ซึ่งเป็นการใส่ฟันเทียมทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติ จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพการบริการทาง ทันตกรรมที่จะช่วยลดปัญหาสภาวะสุขภาพช่องปากของประชาชนไทย ตอบรับต่อนโยบายการแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

          นอกจากนี้ศาสตร์ทางทันตกรรมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความก้าวหน้าของวัสดุ เทคโนโลยี และการพัฒนาความรู้ด้านชีววิทยาประยุกต์ จึงจำเป็นที่ทันตแพทย์ต้องเรียนรู้แนวคิดนวัตกรรมร่วมกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อการต่อยอดและจัดการองค์ความรู้ต่อไป

วัตถุประสงค์


          หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมคลินิก มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1.  ใช้ความรู้ควบคู่กับทักษะปฏิบัติ เพื่อให้การรักษาทางทันตกรรมคลินิกขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.  สามารถวิเคราะห์โรคหรือสภาวะในช่องปาก ปัจจัยก่อโรค วางแผนการรักษาและวางแนวทางป้องกันโรคให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมกับปัจเจกบุคคล 

3.  สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง และ/หรือส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อได้อย่างเหมาะสม

4.  มีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาแผนงานวิจัย ดำเนินงานวิจัย และเสนอผลงานวิจัยได้อย่างสมบูรณ์

5.  เป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างมีจริยธรรม คุณธรรม ตามเกณฑ์มาตรฐานด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง

ปรัชญา


          ทันตแพทย์เชิงบูรณาการ ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างองค์รวม

 

ความสำคัญ


          สุขภาพช่องปากที่ดี หมายถึง สภาวะของช่องปากและอวัยวะที่เกี่ยวข้องสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยทำให้บุคคลสามารถรับประทานอาหาร พูด เข้าสังคมได้ อันแสดงว่าสุขภาพช่องปากของบุคคลนั้นปราศจากพยาธิสภาพใดๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพโดยทั่วไปดีด้วย ประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังมีปัญหาในด้านสุขภาพช่องปาก โดยสาเหตุหลักสืบเนื่องมาจากขาดความรู้ ความเข้าใจ ทางด้านทันตสุขศึกษา ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพช่องปากและไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองให้อยู่ในสภาวะที่และสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้สภาวะทันตสุขภาพของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการเสริมสร้างให้ประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดี เพื่อให้ประชาชนสามารถเสริมสร้างสุขภาพบนพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละครอบครัวหรือชุมชน รวมถึงมีความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการบริบาลผู้ป่วยและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถคงสภาวะการมีสุขภาพช่องปากที่ดีได้

 

วัตถุประสงค์


          เพื่อผลิตทันตแพทย์ให้มีคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. สามารถศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสุขภาพช่องปากประชาชน
  2. สามารถตรวจวินิจฉัยโรคในช่องปากเพื่อวางแผนการรักษา รวมถึงทักษะของการรักษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม และลักษณะของผู้ป่วย
  3. มีคุณธรรมจริยธรรม ตระหนักในจรรยาบรรณวิชาชีพ
  4. มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะเพิ่มขึ้นในกระบวนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพช่องปาก และสามารถประสานงานกับบุคลากรสุขภาพสาขาอื่นๆ ได้
  5. สามารถบริหารจัดการสถานบริการทางทันตกรรมให้มีระบบบริการที่ดีและเหมาะสม

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

ปรัชญา


          ทักษะความชำนาญด้านวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล รวมถึงงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาวงการทันตแพทย์และประเทศ

 

ความสำคัญ 


          การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกในปัจจุบันพบว่ามีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการแพทย์นั้นพบว่า มีการนำงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในกระบวนการให้การรักษาผู้ป่วยมากขึ้น โดยการปรับใช้เทคโนโลยีในแขนงวิชาต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจและวินิจฉัย การพิเคราะห์โรค รวมทั้งวิธีการให้การรักษาซึ่งมีการพัฒนาศาสตร์ด้านต่าง ๆ รวมกันทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ รูปแบบวิธีการรักษา การใช้ยาทางการแพทย์และการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อความถูกต้องและแม่นยำในการรักษาผู้ป่วย โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งในปัจจุบันหากจะมุ่งประเด็นศึกษาไปในเรื่องวิทยาการทางการแพทย์โดยเฉพาะ

          งานศาสตร์ทางด้านทันตแพทย์ซึ่งจัดเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญทางการแพทย์ในปัจจุบันที่พบว่ามีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพของช่องปากและฟันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในสหสาขาทางทันตกรรมในปัจจุบัน ได้มีการคิดค้นและพัฒนาวิธีการตรวจ การรักษารวมไปถึงวัสดุทางทันตแพทย์ใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยพัฒนางานด้านการักษาควบคู่ไปกับงานด้านวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงเห็นได้ว่าความสำคัญของงานด้านวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลในปัจจุบันมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากจะจำแนกเป็นรายสาขาวิชาย่อยในหมวดการรักษาทางทันตกรรม ยิ่งทำให้พบถึงข้อมูลที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับวิทยาการที่ทันสมัยมากมาย ทั้งนี้ยังสามารถจัดแบ่งหมวดหมู่ตามความจำเพาะของสาขาได้ทั้งวิทยาการแบบปัจเจกและการนำองค์ความรู้ในสหสาขาเพื่อมาบูรณาการต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลในทุกแขนงวิชาก็มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาและการบริการทางด้านทันตกรรมให้กับผู้ป่วยซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในศาสตร์นี้

          ประเด็นสำคัญอีกด้านหนึ่งคือพบว่า ปัจจุบันปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยยังมีความแตกต่างจากปัญหาสาธารณสุขในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากผลการสำรวจสถานการณ์ของสภาวะทันตสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน พบว่าประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจในด้านการดูแลสุขภาพในช่องปากของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาโรคฟันผุ โรคปริทันต์ และโรคของอวัยวะอื่นๆ ในช่องปากอย่างมากในระดับหนึ่ง โดยหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อของเหงือก ของฟันและอาจลุกลามลงไปถึงกระดูกเบ้าฟัน บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยต้องได้รับการถอนฟันซี่ที่มีปัญหาออกไป รวมทั้งในการผ่าตัดฟันฝังคุดในบางรายอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ซึ่งงานในประเด็นเร่งด่วนดังกล่าวพบว่าทันตแพทย์ทั่วไปไม่สามารถให้การดูแลรักษาได้อย่างเต็มรูปแบบและอาจต้องส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะทันตแพทย์ในสาขาศัลยแพทย์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

          จากข้อมูลของทันตแพทยสภาปี พ.ศ.2554มีทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น11,856 คน และเป็นทันตแพทย์ที่ได้รับการเรียนและฝึกอบรมอบรมเพื่อการทำงานทางด้านศัลยกรรมช่องปากมีจำนวนประมาณ450 คนซึ่งพบว่าในสถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้มีการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมไปยังสถานพยาบาลอื่นที่มีศัลยแพทย์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาและค่ามีภาระเรื่องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พบว่าในบางครั้งจากระบบการส่งต่อที่ล่าช้าส่งผลเสียให้กับผู้ป่วยทำให้ปัญหาสุขภาพที่พบมีความรุนแรงมากขึ้น เกิดความสูญเสียทั้งต่อผู้ป่วยเองและเศรษฐานะและสังคมของครอบครัวผู้ป่วยด้วย ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ทันตแพทย์ทั่วไปได้เข้ารับการฝึกอบรมและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานทางศัลยกรรมช่องปาก ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยลดปัญหดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้นได้วิธีหนึ่ง ทั้งนี้ในปัจจุบันสถาบันที่เปิดหลักสูตรอบรมทางด้านศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโล  เฟเชียลโดยเฉพาะนั้นยังไม่สามารถรับทันตแพทย์เข้าอบรมได้เพียงพอต่อความต้องการของสังคม

          นอกเหนือจากประเด็นรักษาที่มีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตและสุขภาพผู้ป่วย ยังมีศาสตร์ทางทันตแพทย์อีกสาขาหนึ่งที่ในปัจจุบันพบว่ามีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของสังคม โดยต้องใช้ทักษะความชำนาญในด้านงานผ่าตัดและศัลยกรรมช่องปากเข้ามามีส่วนอย่างมาก สาขาวิชาดังกล่าวคือ งานด้านศัลยกรรมรากเทียม ทั้งนี้พบว่าในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดและมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการรักษางานทางทันตกรรมรากเทียมนั้น พบว่ามาจากขั้นตอนทางศัลยกรรมในการผ่าตัดเพื่อฝังรากเทียมให้แก่ผู้ป่วย ทั้งนี้มีผลเกี่ยวเนื่องมาจากทักษะและความชำนาญทางคลินิก โดยเริ่มต้นก่อนขั้นตอนการผ่าตัด ต้องมีความสามารถในการประเมินผู้ป่วยและวางแผนการรักษาอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน ถึงแม้ในกรณีที่การผ่าตัดฝังรากเทียมนั้นเป็นการรักษาแบบธรรมดาไม่ต้องมีขั้นตอนทั้งก่อนการผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัดที่สลับซับซ้อน อย่างไรก็ตามในกรณีของผู้ป่วยที่ต้องมีการรักษาโดยทันตกรรมรากเทียมและเป็นผู้ป่วยที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในขั้นตอนวางแผนการรักษา หรือแม้กระทั่งพบผลแทรกซ้อนทั้งระหว่างการผ่าตัด และหรือหลังการผ่าตัดตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดเสริมหรือปลูกกระดูกก่อนการผ่าตัดฝังรากเทียม เป็นต้น ยิ่งต้องอาศัยทักษะการฝึกฝนในด้านความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับงานศัลยกรรมช่องปากเป็นอย่างยิ่งและเพื่อให้ประสิทธิภาพในการรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุดผู้เรียนควรมีความสามารถเชิงคลินิกและด้านวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลรวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานทันตกรรมรากเทียมเป็นอย่างดีและทันยุคสมัยอยู่เสมอ

          จากเหตุผลต่างๆ ดังที่กล่าวมาส่งผลให้ภาควิชาศัลยศาสตร์และเวชศาสตร์ช่องปาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหานี้ จึงได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตในสาขาวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลขึ้น โดยมีแขนงวิชาเฉพาะด้านศัลยศาสตร์ช่องปากและรากเทียมขึ้น ทั้งนี้เพื่อผลิตศัลยแพทย์ช่องปากและรากเทียมที่มีคุณภาพ ให้เพียงพอต่อความต้องการของสังคม อีกทั้งมีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลให้ก้าวทันวิทยาการที่ทันสมัยทางด้านทันตแพทย์ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานงานบริการทางด้านทันตกรรมในสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและรากเทียมในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล

          ในอีกด้านหนึ่ง คือแขนงวิชางานด้านเวชศาสตร์ช่องปาก ซึ่งเป็นสาขาที่ทีความสำคัญและสัมพันธ์กับงานด้านการดูแลผู้ป่วยซึ่งมีปัญหาเกี่ยวข้องกับงานสหสาขา อันได้แก่ สาขาทันตพยาธิวิทยา สาขาทันตรังสีและสาขาทันตกรรมบดเคี้ยว เป็นต้น โดยพบว่างานที่สำคัญของสาขาเวชศาสตร์ช่องปาก นอกจากจะมีความสำคัญและสัมพันธ์โดยตรงกับสหสาขาทางทันตแพทย์เองแล้ว ยังพบความสัมพันธ์โดยตรงกับงานในสาขาแพทย์แขนงต่าง ๆ เพราะจากสถานการณ์เกี่ยวกับโรคในช่องปากในปัจจุบันที่นอกเหนือไปจากโรคของเหงือกและฟันแล้ว โรคของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ จากการขาดสารอาหารรวมทั้งโรคที่เกิดจากการสร้างภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง ล้วนแล้วแต่พบอัตราการเกิดที่เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาในการรักษาทางทันตกรรมและสภาวะทันตสุขภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น ประเด็นสำคัญที่พบว่างานของสาขาเวชศาสตร์มีความเกี่ยวข้องโดยตรงนอกเหนือไปจากรอยโรคของเนื้อเยื่ออ่อนและโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในช่องปาก คือรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากและรอยโรคมะเร็งในช่องปาก จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข มีรายงานถึงผลการสำรวจสภาวะของการเกิดโรคมะเร็งในช่องปากที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการตรวจพบข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากที่น่าสนใจในหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังระบุถึงสภาวะของการเกิดโรคมะเร็งในช่องปาก ซึ่งพบมากที่สุดคือชนิดสความัสเซลล์คาร์ซิโนมา โดยพบมากเป็นอันดับที่ 4 สำหรับโรคมะเร็งที่พบในกลุ่มประชากร เป็นต้น ซึ่งความสำคัญทั้งหมดของการตรวจและวินิจฉัยรอยโรคที่น่าสงสัยที่จะมีแนวโน้มเกิดเป็นมะเร็งในช่องปากที่เพิ่มมากขึ้นต้องอาศัยวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลที่ทันสมัย โดยเฉพาะพัฒนาทักษะและความสามารถในงานด้านเวชศาสตร์ช่องปาก ทั้งนี้จะเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยความพยายามที่จะผลักดันของแผนงานด้านทันตสาธารณสุขและกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขที่จะพัฒนาศักยภาพของทันตแพทย์ในการคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปาก โดยพยายามผลักดันให้เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการดูแลคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งและมะเร็งช่องปากแห่งชาติ ซึ่งความสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้วาระแห่งชาติดังกล่าวประสบความสำเร็จได้และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการดูแลทันตสุขภาพที่มีมาตรฐานสากลต้องขึ้นกับการพัฒนาเรื่องวิทยาการวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลที่เกี่ยวข้องกับสาระงานดังกล่าว ดังนั้นการเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาศักยภาพให้แก่ทันตแพทย์ในด้านงานเวชศาสตร์ช่องปากและพิเคราะห์โรคในช่องปากจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อขยายฐานในการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพนอกเหนือไปจากงานหัตถการทางทันตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคเหงือกและฟัน

 

วัตถุประสงค์


          เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ ดังนี้ 1. มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาการช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลโดยเฉพาะในการป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับงานศัลยกรรมช่องปากและรากเทียม รวมทั้งด้านเวชศาสตร์ช่องปาก ที่มีคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ 2.มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินงานวิจัย วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความรู้ในงานวิจัย โดยเฉพาะสาขาศัลยกรรมช่องปากและรากเทียม รวมทั้งด้านเวชศาสตร์ช่องปาก และเผยแพร่ผลงานในระดับชาติและนานาชาติ